top of page

การสอนลูกนอนเอง ตอนที่ 5

มาถึงจุดนี้เราคาดว่าพ่อแม่คงไปทำการบ้านมาเรียบร้อย ถ้าใครไม่เคยอ่านตอนที่1-4 มาก่อนแล้วมาอ่านตอนนี้เลยก็ให้กลับไปอ่านตอนก่อนๆหน้านี้ก่อนนะคะ เตรียมตัวให้พร้อมเพราะไม่งั้นโอกาศที่จะทำไม่สำเร็จมีสูง ถ้าอ่านครบทุกตอนแล้วทีนี้เรามาตรวจความพร้อมกันหน่อยนะคะก่อนจะเริ่ม

  1. รู้เวลาเข้านอนของลูกแล้ว อาจจะไม่ต้องเป๊ะทุกวันแต่อย่างน้อยๆก็บวกลบไม่ควรเกินครึ่งชั่วโมง สำหรับเวลานอนนี้ถ้าดึกก็ไม่เป็นไรนะคะ ไว้เค้านอนเองเป็นแล้วเราค่อยมาขยับให้มันเร็วขึ้น

  2. ลูกกินอิ่มช่วงกลางวัน และเลิกกินจริงจังตอนกลางคืน ถ้าลูกตื่นมาเข้าเต้าหลายๆรอบก็ไม่เป็นไรค่ะ แต่ต้องแน่ใจว่าไอ้ที่ตื่นเค้าตื่นมาดูดๆละหลับไม่ได้กินเอาอิ่ม ถ้ายังกินเอาอิ่มอยู่ก็ไม่ควรเกินสองครั้งเท่านั้น

  3. ลูกนอนกับเลิฟวี่ ติดหรือไม่ไม่เป็นไรค่ะ อย่างน้อยๆให้เค้ามีไว้นอนด้วยก่อนก็พอ

  4. อุปกรณ์ต่างๆพร้อม อยู่ในสภาพใช้งานได้

1-2 อาทิตย์ก่อนที่จะเริ่ม

จุดนี้คาดว่าคุณแม่คงจะนอนกับลูกกันเป็นส่วนใหญ่ 1-2 อาทิตย์ก่อนเริ่มนะคะ ให้แม่และลูกย้ายไปนอนในห้องที่เตรียมไว้ให้ลูก เอาที่นอนหรือฝูกอะไรก็ได้ปูนอนบนพื้น จุดประสงค์คือให้ลูกคุ้นเคยกับห้อง ทำทุกอย่างเหมือนเวลาจะให้ลูกนอนคนเดียวเป๊ะๆนะคะ สม่ำเสมอในกิจวัตรก่อนนอน(จากตอนที่แล้ว) ใช้แสงไฟที่จะเปิดไว้ในขณะนอนหลับถ้ามี (เราจะมีดวงไฟเล็กๆ night light เปิดไว้ในห้องลูกไม่สว่างมากเอาแค่พอเห็น เพื่อให้มันไม่มืดเกินไป) เปิดไวท์น๊อยนอน ทำอย่างน้อยๆหนึ่งอาทิตย์ถ้าสองอาทิตย์ได้ยิ่งดี

สำหรับคนที่ให้ลูกแยกห้องไปแล้ว แต่ลูกยังนอนเองไม่เป็นต้องใช้ตัวช่วยในการนอน (สังเกตุคือตื่นบ่อยๆกลางดึก) ข้อนี้ก็ข้ามไปได้นะคะ เพราะว่าเด็กชินกับห้องตัวเองอยู่แล้ว ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรในสภาพแวดล้อมในห้องนอน แต่ถ้าอยากจะเริ่มใช้ไวทน๊อยซ์ หรือเปลี่ยนแปลงพวกเครื่องนอน(เช่นเอาของออกจากเปลหรือเพิ่มของในเปล) ก็ควรทำอาทิตย์นึงก่อนหน้าที่จะเริ่มหัดนอนนะคะ จุดประสงค์คือพยายามช่วยให้การเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะในสภาพแวดล้อมหรือกิจวัตรในการนอนให้มีผลกระทบน้อยที่สุด คือไม่ทำทุกอย่างตูมเดียว เปลี่ยนทีละเรื่อง ครั้งนึงเว้นวรรคให้เด็กปรับตัวได้สักหน่อยแล้วเริ่มเปลี่ยนอย่างอื่นๆต่อไป นึกสภาพถ้าเราย้ายบ้าน นอกจากย้ายบ้านแล้วยังต้องนอนคนเดียวจากที่เคยนอนกับแม่ หรือพี่น้อง เท่านั้นไม่พอ ยังมีเสียงแอร์เก่าๆที่ดังมากๆตลอดเวลาเพิ่มมาอีกจากที่เคยนอนเงียบๆ อย่าว่าแต่เด็กเลยค่ะ ผู้ใหญ่อย่างเราก็คงนอนไม่ค่อยหลับ

3-4 วันก่อนที่จะเริ่ม

1. ใช้เวลาซักชั่วโมงนึง นั่งนึกถึงเหตุผลว่าทำไมเราถึงตัดสินใจหัดลูกนอนแล้วจดลงกระดาษ(ใส่ในโทรศัพท์หรืออะไรก็ได้ค่ะ) ไว้เป็นข้อๆ คิดถึงข้อดีที่เราและลูกจะได้รับหลังจากลูกนอนเองและแยกห้องนอน สาเหตุที่เราไม่สามารถจะตื่นกลางดึกบ่อยๆได้อีกต่อไป จดเสร็จแล้วเก็บไว้ให้ดี เวลาเราหัดลูกนอนแล้วรู้สึกท้ออยากจะเลิกกลางคันก็ให้เอาที่จดไว้ออกมาดู จะช่วยให้เราผ่านช่วงที่ยากๆไปได้ เชื่อเราค่ะเวลาเราบอกว่ายาก คือยากจริงๆ จดเป็นสิบๆข้อได้ยิ่งดี

2. เขียนแผนการให้เป็นรูปเป็นร่าง อย่างที่กล่าวไปแล้วในตอนก่อนๆว่าการฝึกนอนแบบปล่อยให้ร้องมีสองแบบ

  • แบบเช็ค คือวางลูกลงนอน สลึมสลือแต่ยังไม่หลับ ไม่สบตา ให้มองที่หน้าอกลูก ถ้ากลัวพลาดไปสบตา บางตำราจะบอกว่าให้เราพูดเสียงเบาๆให้เค้าผ่อนคลายแบบว่านอนลูกนอนไรงี้ แต่เราลองแล้วมันทำให้ลูกตื่นเต้นและนอนหลับยากมาขึ้นเราเลยเลือกที่จะไม่พูดและเงียบตลอดเวลา ถ้าเป็นอย่างที่คาดเดาไว้ พอวางปุ๊บเค้าจะตื่นและร้องปั๊บ เราก็เดินหันหลังออกจากห้องเงียบๆ จับเวลา 5 นาที ถ้ายังไม่หยุดร้องพอครบห้านาทีก็เข้าไปเช็ค วิธีการเช็คคือเดินเข้าไปเงียบๆ ไม่เปิดไฟ ลูบหัวลูบหลัง ทำอะไรก็ได้ที่ให้เค้ารู้ว่าแม่ไม่ได้ทิ้งนะ ไม่มีอะไรน่ากลัว นอนได้แล้ว แต่ห้ามอุ้มขึ้น ห้ามทำเหมือนจะอุ้มขึ้น ควรใช้เวลาเช็คไม่เกินสองนาทีอย่างมากสุด แล้วเดินออกมาเลย ไม่ว่าลูกจะหยุดร้องหรือไม่ก็ตาม หลังจากออกมาแล้วก็จับเวลา 10 นาที ถ้าไม่หยุดร้องก็เข้าไปเช็คเหมือนเดิม เช็คครั้งต่อมา 15 นาที และหลังจากนี้ไปเช็คทุกๆ 15นาทีจนกว่าจะหลับ

  • แบบหักดิบ คือวางลูกนอน(สลึมสลือแต่ไม่หลับ)แล้วเดินออกมาเลยไม่มีเช็ค เวลาเค้าตื่นมาร้องกลางดึกก็ไม่เข้าไปดู

วิธีไหนดีกว่ากัน? ทั้งสองวิธีมีข้อดีข้อเสียต่างกัน จากประสบการ์ณ วิธีเช็คข้อดีคือทำให้เรารู้สึกผิดน้อยลง คืออย่างน้อยๆก็ได้ทำอะไรบ้างนอกจากนั่งฟังเค้าร้องอย่างเดียว ไม่ทำให้เรารู้สึกว่าทอดทิ้งลูก ข้อเสียคือลูกร้องนานกว่า บางทีกำลังพยายามหลับ (เด็กบางคนร้องเพื่อให้หลับ เสียงร้องจะแตกต่างจากร้องปกติ เรียกว่าMantra cry) แม่เดินเข้าไปเช็คแทนที่จะหลับกลับกลายเป็นร้องไห้หนักมากขึ้นไปอีก และเรารู้สึกว่าการเช็คมันเหมือนไปแหย่เค้ามากกว่าไม่ได้ทำให้เกิดผลประโยชน์อะไร ส่วนใหญ่เช็คจะทำให้ลูกสับสนและร้องไห้นานกว่าแบบไม่เช็ค แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแล้วแต่ตัวเด็กด้วย เด็กบางคนชอบให้มีเช็คเพราะเค้าจะกลัวน้อยลงและหลับง่ายขึ้น ทีนี้เราจะรู้ได้ยังไงว่าลูกชอบการเช็คหรือไม่ สำหรับพ่อแม่ที่อยากเลือกที่จะเช็คนะคะ ให้ลองสังเกตุค่ะ ว่าถ้าเวลาเราเข้าไปเช็คเสร็จแล้ว (เช็คครั้งที่สามเป็นต้นไป) ช่วงที่เดินออกมาถ้าลูกร้องไห้หนักกว่าเดิม แบบว่าตะโกนตามหลังเรามาเลยนั้นแสดงว่าการเช็คให้ผลร้ายมากกว่าผลดีนะคะ

เมื่อเราเลือกวิธีได้แล้วก็มาเขียนแผนการกัน ในแผนการนี้นะคะคือเขียนให้แน่นอนว่าต้องทำอะไรบ้างในคืนที่หัดนอน ป้องกันการทำอะไรลงไปด้วยอารมณ์ สิ่งที่ควรจะเขียนนะคะคือ

จะใช้วิธีไหนระบุให้แน่ชัด ถ้าเลือกที่จะเช็คครั้งแรก 5นาที ครั้งที่สอง 10 นาที แล้วครั้งต่อๆไป 15 ก็ต้องทำตามนั้นนะคะ ครั้งต่อๆไปรอมากกว่า 15 นาทีได้ แต่จะรอ 15 นาทีแล้วกลับมา 5 นาทีนั้นไม่ได้ คือต้องเว้นระยะเท่าเดิมหรือนานกว่าเดิมเท่านั้น ห้ามสั้นกว่าเดิม เพราะผลที่จะตามมาคือเค้าจะร้องนานขึ้น อันนี้ในคืนเดียวนะคะ ถ้าคืนต่อมาก็เริ่มใหม่หมด และสำหรับคนที่ใช้วิธีเช็คแล้วเกิดเปลี่ยนใจมาเป็นหักดิบนั้นได้ แต่จะเริ่มจากหักดิบแล้วเปลี่ยนไปเช็คนั้นไม่ได้

พ่อแม่บางคนจะตั้งข้อจำกัดว่าจะปล่อยให้ร้องนานแค่ไหน ถ้านานเกินกว่านั้นคือจบยกเลิกแผนการ หรือตั้งข้อจำกัดแบบว่าถ้ากี่วันก็ว่าไป ถ้าไม่สำเร็จจะยกเลิก อันนี้จะสร้างความอุ่นใจให้คุณแม่นิดนึง แต่! เรามีแต่ค่ะ เราแนะนำว่าถ้าจะตั้งข้อจำกัด ต้องให้เหมาะสมกับความเป็นจริงนิดนึงนะคะ อะไรคือความจริง? ปกติถ้าทำแบบหักดิบ และทำทุกอย่างถูกต้องอย่างที่เราแนะนำไว้ วันแรกควรจะร้องประมาณ 30นาที-1 ชั่วโมง วันที่สองลดลงมาประมาณครึ่งนึง และเหลือ 5-10 นาทีในวันที่สาม นี่คือกรณีมหัศจรรย์สามวันจบ แต่ความจริง(ที่โหดร้าย)คือไม่ใช่เด็กทุกคนจะง่ายแบบนั้นค่ะ ถ้าใครหัดสามวันจบไม่มีตื่นขึ้นมาร้องไห้อีกเลยระหว่างคืน และเป็นแบบนั้นตลอดไป ยินดีด้วยค่ะ! แต่สำหรับพ่อแม่ที่กำลังจะหัดลูกและยังไม่รู้ว่าลูกหัวแข็งขนาดไหน เราว่ามันจะช่วยได้เยอะถ้าทำความเข้าใจก่อนว่าการหัดอาจจะร้องนานกว่า 1 ชั่วโมงและอาจจะร้องนานกว่า3วันกว่าจะเริ่มเห็นผลสำเร็จ เพราะนี่คือความจริงค่ะ รู้ความเป็นไปได้ไว้ซะแต่เนิ่นๆจะได้ทำตัวถูกถ้าลูกเกิดเป็นแบบหัวแข็งขึ้นมา ข้อสำคัญคือถ้าตัดสินใจยกเลิกแผนการ รู้ไว้นิดนึงนะคะว่าถ้าในอนาคตเปลี่ยนใจอยากจะหัดใหม่อีกที ผลที่ตามมาคือจะร้องหนักและนานกว่าครั้งแรกมาก เพราะเค้าเรียนรู้จากครั้งแรกว่าถ้าเค้าร้องไห้หนักและนานพอ พ่อแม่จะยกเลิกและกลับมานอนด้วยกันเหมือนเดิมหรืออะไรก็แล้วแต่ที่ทำอยู่เพื่อช่วยให้เค้าหลับ เพราะฉะนั้นคิดให้ดีก่อนที่จะเริ่ม ถ้าไม่พร้อมให้รอไปก่อน ค่อยเริ่มวันหลังได้ แต่อย่าเริ่มแล้วเลิกกลางคัน เพราะนั่นจริงๆแล้วเราคิดว่าไม่ยุติธรรมกับหลายๆฝ่าย ทางลูกคือที่ร้องๆไปก็เสียเปล่า และคนอื่นๆที่ต้องฟังลูกร้องก็จะเสียความพยายามไปเปล่าๆด้วย ไม่ได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา

3. เตรียมพร้อมคนในบ้าน คาดว่าถึงตอนนี้คุณแม่และคุณพ่อปรึกษาและตกลงกันดีเรียบร้อยแล้วนะคะ ถ้าใครคนนึงไม่เห็นด้วยแนะนำให้ไปคุยกันใหม่ก่อนที่จะตัดสินใจเริ่ม เพราะไม่มีอะไรแย่ไปกว่านั่งฟังลูกร้องไห้แล้วมีคนข้างๆมานั่งบ่นไม่ให้กำลังใจกันอีก นอกจากสามีแล้วที่สำคัญเลยคือถ้าในบ้านมีคนอื่นๆอาศัยอยู่ด้วยก็ให้อธิบายและตกลงกันให้ชัดเจน เพราะไม่สนุกแน่ๆค่ะถ้าต้องคอยบอกตัวเองให้ใจแข็งแล้วยังต้องคอยห้ามไม่ให้แม่สามีเข้าไปโอ๋ลูกเราอีก ฮาาาา ถ้าใครไม่เห็นด้วยหรือใครที่มีวี่แววที่จะใจอ่อนและอาจจะเป็นอุปสรรคต่อการหัด ทางที่ดีที่สุดคือให้คนๆนั้นออกไปนอกบ้านสักพักนึง ไปหาอะไรกินหรือซื้อของหรืออะไรก็ได้ค่ะ จะได้ไม่เครียดกันทั้งสองฝ่าย

4. เตรียมพร้อมตัวเราเอง สำหรับคุณแม่ หรือใครก็ตามที่จะเป็นคนหัดลูกนะคะ ให้พักผ่อนให้เยอะๆค่ะ เพราะช่วงที่หัดลูกตัวเราเองจะได้นอนน้อยไปด้วย ถ้าจะให้ดีทำช่วงที่สามีอยู่บ้านช่วย อย่างเช่นคืนวันศุกร์ ช่วงเสาร์อาทิตย์จะได้มีคนช่วย และที่สำคัญคือเตรียมใจค่ะ เราเชื่อว่าแม่ทุกคนเมื่อได้ยินลูกร้องแล้วด้วยสัญชาตญาณเราจะกังวลและอยากเข้าไปอุ้มเข้าไปโอ๋ (โดยเฉพาะกับลูกคนแรก) ไม่ได้เป็นเพราะเราใจอ่อน ตามใจลูกหรือว่าอะไรหรอกค่ะ ธรรมชาติสร้างเรามาให้เป็นแบบนี้ รู้สึกผิดหรืออะไรก็ไม่แปลกค่ะ เป็นกันทุกคน สำหรับเราตอนบีบีลูกคนแรกจะยากหน่อย กับดีแลนนี่ง่ายขึ้นนิดนึงเพราะเราเคยทำสำเร็จมาแล้ว

5. เตรียมพร้อมลูก ในช่วงสามสี่วันที่จะถึงวันหัด พยายามให้ลูกนอนกลางวันให้พอ เพื่อหลีกเลี่ยงการง่วงเกินไปซึ่งจะทำให้นอนยากอย่างที่กล่าวไปในตอนก่อนหน้านี้ และอีกสาเหตุนึงคือช่วงที่หัดนอนเค้าจะได้นอนน้อย ให้นอนตุนไว้นิดนึง มีโปรแกรมไปเยี่ยมเพื่อนสังสรรค์อะไรก็พักไว้ก่อนนะคะ ไว้ค่อยเข้าสังคมตอนหัดเสร็จแล้วจะดีที่สุด สำหรับเราจะเคลียร์คิวก่อนหัดสองสามวันไปจนถึงหลังวันเริ่มหัดไปประมาณสองอาทิตย์ คือออกไปกินข้าวกลางวันหรืออะไรนิดๆหน่อยๆได้นะคะ แต่พวกต้องไปงานแต่งกลับดึก หรือไปต่างจังหวัด ต่างประเทศ อะไรพวกนี้ก็เลือกช่วงหัดที่ไม่มีกิจกรรมพวกนี้เข้ามาแทรก เพราะไม่งั้นลูกจะสับสนและหัดยากขึ้นไปอีก ถ้าลูกมีอาการ ป่วย หรืองอแงผิดปกติก่อนวันเริ่ม ให้พักไว้ก่อนนะคะ รอดูอาการวันรุ่งขึ้น แล้วค่อยเริ่มก็ไม่สาย เด็กป่วยนอนหลับยากและร้องเยอะค่ะ หลีกเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง

ในตอนต่อไปเราจะมาเริ่มการฝึกกันนะคะ


bottom of page