top of page

การสอนลูกนอนเอง ตอนที่ 4


สำหรับพ่อแม่ที่ตัดสินใจแล้วว่าการหัดลูกนอนเองเป็นคำตอบ ตอนที่4 นี้จะมาเตรียมความพร้อมกันนะคะ

ก่อนอื่นเราต้องลงทุนซื้ออุปกรณ์กันก่อน ถามว่าไม่มีได้ไหมก็ตอบว่าได้ค่ะ แต่เราแค่แนะนำให้ซื้อเพราะมันจะช่วยให้การฝึกนอนง่ายขึ้นไปอีกนิดนึง

1. เบบี้มอนิเตอร์ คือเป็นกล้องสำหรับดูลูกเราในห้องนอน อันนี้ควรซื้ออย่างมาก เพราะเวลาหัดลูกนอนเราจะได้คอยดูว่าเค้าทำอะไรอยู่ เวลาเงียบไปคือหลับหรือยังไงจะช่วยตัดความกังวลไปได้มาก ถ้าไม่อยากซื้อ(เพราะว่าแพงหรืออะไรก็แล้วแต่) เราแนะนำให้ติดตาแมว(แบบที่ติดในประตูโรงแรม) แต่ว่าติดกลับด้าน เวลาเราส่องจากนอกประตูจะได้เห็นข้างในห้องโดยที่ไม่ต้องเข้าไปรบกวนการนอนเค้า แต่คุณภาพจะไม่ดีเท่าและเวลามืดๆจะดูยาก แต่ก็ดีกว่าไม่มีอะไรเลย

2.ถุงนอน อันนี้เป็นถุงคล้ายผ้าห่มแบบมีซิป ให้ลูกใส่เวลานอน จะได้ไม่ดิ้นหลุดแล้วหนาวเวลานอน ป้องกันพ่อแม่ต้องเสี่ยงเข้าไปห่มผ้าให้กลางดึก แล้วก็ช่วยให้เค้าอุ่นไม่หนาวจนเกินไป นอกจากนั้นสำหรับคนที่หัดเด็กโต ไอ้ถุงนอนนี้ช่วยป้องกันไม่ให้เค้าปีนเปลออกมาได้ (แล้วแต่ความสูงของเด็กด้วยนะคะ ถ้าสูงมากก็อาจจะช่วยไม่ได้) ข้อนี้ต้องเลือกแบบที่ขนาดพอดี กับลูก เพราะว่าอันตรายถ้าหัวเค้ามุดเข้าไปข้างในได้ จะทำให้หายใจไม่ออก IKEA ขายถุงนอนคุณภาพใช้ได้เลยราคาถูกด้วย ไปลองหาดูได้ค่ะ

3. เลิฟวี่ คือสิ่งของชิ้นนึงที่เราให้ลูกไว้เพื่อเป็นที่อุ่นใจของลูก เด็กเล็กๆเค้าจะกลัวการอยู่คนเดียว ถ้าเราหัดให้เค้านอนคนเดียวเราควรหาของเล่นเอาไว้ให้เค้าเหมือนเป็นเพื่อนว่างั้นตอนที่เค้านอน ถ้าเราไม่ยื่นให้เค้าตั้งแต่เด็ก เด็กบางคนจะเลือกเอง เห็นได้ว่าเด็กบางคนติดหมอน ติดผ้าห่ม ต้องเป็นผืนเดิมเท่านั้น จะหงุดหงิดถ้าเอาไปซักทำนองนั้น คือติดกลิ่น แล้วเราควรเลือกของแบบไหนมาใช้เป็นเลิฟวี่? เลิฟวี่ถึงจะมีหลายแบบ แต่เราควรเลือกที่มีคุณสมบัตรตามนี้ค่ะ

  • นิ่ม ทำจากผ้า ไม่มีเศษผ้าหรือกระดุมของแข็งชิ้นเล็กๆที่หลุดออกมาติดคอได้

  • ใหญ่ไม่เกินมือเรา(รวมนิ้วกางออก) ใหญ่มากปิดหน้าทำให้หายใจไม่ออกได้ เล็กเกินไปก็หาไม่เจอเวลามืดๆในเปล

  • หาที่มีสองอันที่เหมือนกันเป๊ะได้ (ไว้สำรองเผื่ออีกอันนึงต้องซักหรือทำหาย)

  • ถ้าเป็นตุ๊กตา ไม่ควรมีเสียง ไม่ว่าจะกระดิ่งหรือกระพรวนอะไรก็ตาม

ไม่จำเป็นต้องซื้ออะไรแพงๆนะคะ ตัดชายผ้าห่มเป็นสี่เหลี่ยมแล้วเก็บขอบให้ดีก็ใช้ได้เหมือนกันค่ะ (เลิฟวี่นี่อาจจะติดตัวลูกเราไปตลอดเวลากว่าจะโต จะเลือกอะไรก็อย่าให้เก่ามากนะคะเดี๋ยวมันจะยุ่ยซะก่อนเวลาอันควร ฮาาาา)

อันนี้คือตัวย่างเลิฟวี่ของดีแลนและบีบีค่ะ

วิธีแนะนำเลิฟวี่ให้ลูกคือ ทุกครั้ง(เน้นว่าทุกครั้งนะคะ ไม่ว่าจะนอนกลางวันหรือกลางคืน) เวลาเข้านอนก็เอาเลิฟวี่ใส่ไว้ให้ในมือหรือข้างๆหน้า (แล้วแต่อายุนะคะ ถ้าเด็กเล็กมากๆ1-3 เดือนก็วางไกลๆหน้าหน่อยแต่ให้พอได้กลิ่น จะหลับในรถหรือรถเข็นก็เอาเหน็บๆไว้ พอนานๆเข้าเค้าจะคว้าไปกอดหรือกัดเองเวลาจะเข้านอนก็ให้เค้าไป จุดประสงค์คือให้เค้าเชื่อมโยงเลิฟวี่กับการนอน อันนี้ต้องใช้เวลานิดนึงและความสม่ำเสมอช่วยด้วย ช่วงเวลาที่ลูกตื่นก็เอาเลิฟวี่ใส่ไว้ในเสื้อชั้นในของคุณแม่เพื่อให้มีกลิ่นของแม่ติดไปด้วย สำหรับคนที่ตัดสินใจที่จะมีสำรองไว้อีกอันควรจะผลัดกันใช้ อย่าใช้อันเดียวแล้วอีกอันเก็บไว้ในตู้ เพราะนานๆไปไอ้อันที่ใช้บ่อยๆจะเก่าแล้วเด็กจะจับได้ค่ะว่าเป็นคนละอันกัน คือใช้ให้มันเก่าพอๆกัน การแนะนำเลิฟวี่ใช้เวลานะคะ แค่รักษาความสมำ่เสมอไม่กี่เดือนเค้าก็จะติดไปเอง

4. เปล ควรเลือกที่ได้มาตรฐาน ถ้าให้อธิบายว่ายังไงถึงได้มาตรฐานคงจะยาวเอาเป็นว่าถ้าใครตั้งใจจะซื้อเราแนะนำให้ไปซื้อของ IKEA (เจ้านี้เค้าตรวจมาตรฐานและเรียกคืนบ่อยถ้าไม่ได้มาตรฐาน) ราคาถูกด้วย แต่ถ้ามีอยู่แล้วก็ต้องตรวจดูว่าแต่ละช่องไม้ไม่ควรใหญ่เกินไปที่หัวเด็กจะลอดออกมาติดได้ หรือเล็กเกินไปที่แขนขาจะติด ฝูกที่นอนจะต้องพอดีไม่มีช่องระหว่างฝูกและขอบเปล (ไม่เกิน 2เซ็น) เพราะเด็กอาจจะตกและหัวไปติดระหว่างช่องข้างๆฝูกได้ เปลควรจะวางห่างจากหน้าต่าง (ติดกำแพงโล้นไม่มีตู้หรือสายไฟอะไรที่จะทำให้ปีนป่ายออกมาได้ หรือสายอะไรรัดคอที่เอามือไปคว้าถึง) ไม่ร้อนหรือหนาวเกินไป ในเปลห้ามวางตุ๊กตาหรือผ้าห่มหมอนที่จัดท่านอนหรืออะไรก็ตาม พวกนี้เพิ่มความเสี่ยงหลับตายทั้งหมด ควรมีแค่เด็ก (ใส่ถุงนอนถ้ากลัวหนาว) เลิฟวี่(ใหญ่ไม่เกินมือเรา) แค่นั้นพอ สำหรับคนที่กลัวลูกหัวโขกเปลและหวังดีใส่ผ้านวมกันหัวโขกก็ไม่ควรนะคะ ให้ลูกหัวโขกซะจะดีกว่าพลิกตัวเอาหน้าไปมุดของพวกนี้แล้วหายใจไม่ออก ถ้าอยากใส่จริงๆมันจะมีแบบที่บางๆแล้วดีไซน์ให้หายใจผ่านผ้านวมนี้ได้ช่วยป้องกันเอาหน้าไปมุดได้ก็ไปลองหาซื้อกันดู

5. ไวท์น๊อยซ์ คือเสียงอะไรก็ตามที่ดังต่อเนื่อง ไม่มีหยุดไม่มีการเปลี่ยนแปลงในระดับความดังและสม่ำเสมอ ตัวอย่างคือเสียงฝนตก เสียงคลื่นทะเล เสียงน้ำตก เสียงเครื่องดูดฝุ่น หรือเครื่องเป่าผม เด็กจะหลับได้ดีกว่าถ้ามีไวท์น๊อยซ์ อย่าว่าแต่เด็กเลยค่ะ ผู้ใหญ่ก็หลับได้ดีกว่าเวลามีเสียงฝนตก ข้อดีของไวท์น๊อยซ์คือช่วยเลียนแบบเวลาทารกยู่ในท้องแม่ ในท้องแม่จะมีเสียงด้งมากๆตลอดเวลามันทำให้เค้าอบอุ่นและรีแลกซ์เพราะสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคย ข้อดีที่สองคือช่วยกลบเสียงในบ้าน เวลามีหมาเห่าหรือเด็กที่โตกว่าเสียงดังในบ้าน ไวท์น๊อยซ์จะช่วยกลบไม่ให้รบกวนเด็กทำให้ตื่น ความดังคือ ประมาณเสียงของคนอาบน้ำฝักบัวประมาณนั้น ไม่ดังจนเกินไป และเอาวางให้ไกลจากหูเด็กมากที่สุดเท่าที่จะทำได้(แต่ต้องวางในห้องนะคะ ไม่งั้นก็ไม่ได้ผล) เราใช้ไอโฟนเก่าๆมาเสียบต่อกับลำโพง โหลดแอพที่ทำเสียง white noise มาใช้ ของเราเคยใช้สองอันชื่อว่า baby pillow และ relax melodies มีแอพฟรีเยอะแยะค่ะลองไปเลือกๆดู ที่สำคัญคือเสียงต้องต่อเนื่องและสามารถเปิดไว้ได้ทั้งคืนไม่มีจบหรือแบตหมด พวกซีดีจะใช้ไม่ได้เพราะช่วงระหว่างเปลี่ยนเพลงมันจะหยุด เด็กบ้านเรานี่ถ้าไฟดับแล้วเสียงมันหยุด(แม้จะแป๊บเดียว)เค้าจะตื่นทันที

ต่อมาก็จะคือสิ่งที่ต้องทำล่วงหน้าก่อนการหัดนอน อันนี้ควรจะเตรียมอย่างน้อยๆล่วงหน้าหนึ่งเดือนก่อนวันที่เราตั้งใจจะเริ่มทำการหัดนอน

1. สร้างกิจวัตรก่อนนอน เด็กเล็กๆจะชอบความสม่ำเสมอ คือเดาได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป ไม่งั้นเค้าจะกังวล แล้วก็กลัว ซึ่งดีกรีความกังวลเวลาอะไรเปลี่ยนแปลงไม่คุ้นเคยนั้นแตกต่างกันไปแต่ละคน บางคนก็ปรับตัวง่ายบางคนก็งอแงนานและมาก กิจวัตรก่อนนอนคือกิจกรรมที่เราตั้งขึ้นมา ใช้เวลาทำอย่างน้อย20นาที กิจกรรมดังกล่าวควรส่งเสริมความสงบและเตรียมพร้อมก่อนการเข้านอน เพราะฉะนั้นอะไรที่มันเสียงดังวิ่งเล่นตึงตังหรือทีวีก็ห้ามนะคะ เพราะทำให้หลับยากขึ้น ยกตัวอย่างนะคะ อย่างของบ้านเรา ครึ่งชั่วโมงก่อนเวลานอนของดีแลนเราจะทำดังนี้ค่ะ

  • จับเค้าอาบน้ำ

  • พาเข้าห้องนอน จับแต่งตัว ในห้องนอนหรี่ไฟไม่สว่างมาก เปิดแต่โคมไฟได้ยิ่งดี

  • ให้เล่นกับตุ๊กตาไขลานกล่องดนตรีซัก1-2นาที

  • เอาใส่ถุงนอน

  • เปิดดนตรีกล่อมและไวท์น๊อยซ์

  • อุ้มเดินวนๆในห้องนอน 5 นาทีไม่ขาดไม่เกิน

  • วางในเปล ยื่นเลิฟวี่ให้

  • ปิดไฟแล้วเดินออกจากห้อง

ทำแบบนี้ทุกวันในลำดับเดียวกันเป๊ะ มันช่วยให้ดีแลนผ่อนคลายเพราะเค้ารู้ว่าอาบน้ำเสร็จแล้วแต่งตัว แล้วก็จะเข้านอน เป็นแบบนี้ทุกวัน แชมพูและโลชั่นเราใช้ยี่ห้อเดียวมาตลอดไม่เคยเปลี่ยนเพราะเค้าจะได้คุ้นกลิ่น ช่วงแรกๆที่เริ่มควรจะให้คุณแม่ทำหรือใครคนใดคนหนึ่งทำเท่านั้น ไม่ควรเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ไว้เค้าเริ่มชินแล้ว(ประมาณเดือนนึง) เราค่อยเริ่มผลัดให้คนอื่นทำบ้าง สำหรับคนที่ยังนอนกับลูกก็ทำตามนี้ก็ได้ค่ะ

  • อาบน้ำ

  • แต่งตัว

  • อ่านนิทานหรือร้องเพลงกล่อมบนเก้าอี้(ไม่นอน)

  • เปิดไวท์น๊อยซ์

  • ปิดไฟละเข้านอน

จะเพิ่มจะตัดอะไรก็ได้ตามสะดวกแต่ควรจะใช้เวลาอย่างต่ำ20 นาทีและเป็นกิจกรรมที่สามารถทำได้ทุกวัน และที่สำคัญทำให้เด็กและพ่อแม่รู้สึกผ่อนคลาย (ไอ้บังคับแปลงฟันร้องไห้ลั่นบ้านนั่นก็ขยับไปทำตอนอื่นไม่เอามาทำก่อนนอนนะคะ)

2. หาว่าลูกกินเท่าไหร่ในแต่ละวัน ปกติเด็ก 3-6 เดือนกินประมาณ 650-800 มิลลิลิตรต่อวัน ถ้าลูกกินน้อยกว่านี้ต้องตั้งสันนิฐานแล้วว่าเค้ากินไม่พอ เด็กบางคนกินไม่พอแต่ไม่แสดงออกว่าหิว คือกินเอาแค่พอหายหิวแล้วก็หยุดเพราะติดเล่น อันนี้จะพบมากโดยเฉพาะเด็กที่กินจากเต้า เพราะเวลากินต้องหยุดเล่นอยู่นิ่งๆซึ่งไม่สนุก! วิธีแก้มีหลายแบบแล้วแต่คน แต่เป้าหมายเดียวกันคือพยายามให้เค้ากินให้มากที่สุดในช่วงกลางวัน พอตกกลางคืนจะได้ไม่หิว หรือหิวน้อย ทีนี้คำถามคือแล้วถ้าให้กินจากเต้าจะรู้ได้ไงว่ากินแค่ไหน อันนี้จะยากหน่อยแต่ก็สังเกตุได้ (ถ้าลูก6เดือนขึ้นไป) กินตอนกลางคืนเยอะๆ2-3 ครั้งในคืนๆนึง (ตื่นมากินจริงๆไม่ใช่แค่ดูดๆละหลับ) แสดงว่าตอนกลางวันเค้ากินไม่พอ เด็กเล็กกว่าหกเดือนตื่นมากินกลางดึกอย่างมากสุดสองครั้งใน12 ชั่วโมง ถ้าพบว่าลูกกินน้อยตอนกลางวันแล้วไปบุฟเฟ่เอาตอนกลางคืน ก็ไม่ต้องห่วงค่ะ เราค่อยไปแก้ตอนหลังจากหัดนอนสำเร็จแล้วได้ ตอนนี้ปล่อยๆไปก่อน แต่สำคัญคือมื้อก่อนนอนต้องให้กินเยอะๆค่ะ คือจัดชุดใหญ่เริ่มตั้งแต่มื้อบ่าย มื้อเย็นไปจนมื้อหัวค่ำก่อนนอน ให้กินให้เยอะที่สุดเท่าที่จะทำได้ (ในปริมาณที่ระบุไว้ข้างต้นนะคะ ไม่ใช่ยัดกันจนเกินความจำเป็น นั่นอาจจะทำให้เกิดปัญหาอื่นตามมาได้) เมื่อเรารู้ว่าลูกกินแค่ไหนทีนี้เราก็สามารถเดาได้เวลาลูกตื่นกลางดึกว่าเค้าหิวหรือไม่

3.หาเวลาเข้านอน เวลาเข้านอนนี้คือเวลาที่ลูกเราเปลี่ยนจากโหมดนอนกลางวันเป็นโหมดนอนกลางคืน อย่างที่อธิบายไปแล้วในตอนก่อนหน้านี้ว่า สมองที่ใช้สั่งงานการนอนกลางวันและนอนกลางคืนนั้นมาจากคนละส่วนกัน หน้าที่เราตอนนี้คือหาว่าเวลาตั้งแต่กี่โมงที่สมองส่วนนอนกลางคืนเริ่มสั่งงาน อันนี้ไม่จำเป็นต้องเป๊ะแต่ต้องรู้คร่าวๆว่าประมาณกี่โมง วิธีหาเวลาเข้านอนคือ จดบันทึกตารางการนอนของลูกประมาณ 10วัน (ใน 10 วันนี้ขอให้เอาเป็นสิบวันที่อยู่บ้านตลอดหรือไม่มีกิจกรรมมาแทรกแทรงมากมายนะคะ ช่วงที่มีญาติมาเยี่ยมหรือวันหยุดยาวต้องไปต่างจังหวัดก็คงบันทึกไม่ได้ ) ตั้งแต่4โมงเย็นจนถึงเที่ยงคืน จดว่าลูกหลับกี่โมง ตื่นมาร้องหาเต้าหรืออะไรก็ว่าไปกี่โมง ตื่นนานกี่นาที สำหรับการหานี้หาได้เฉพาะเด็กที่อายุ3-4 เดือนขึ้นไปเท่านั้นอายุน้อยกว่านั้นตารางนอนเค้าจะสับสนปนเปกันไปหมดไม่รู้กลางวันกลางคืน ด้วยเหตุผลนี้เราถึงไม่สนับสนุนการหัดนอนในเด็กที่ต่ำกว่า 4เดือน เมื่อจดครบ 10 วันแล้วเราก็จะมานั่งหาว่าช่วงเวลาที่นอนหลับยาวที่สุด(ควรจะยาวอย่างน้อยซัก 3-4 ชั่วโมง) ในแต่ละคืนคือช่วงไหน แล้วจุดเริ่มของช่วงการหลับยาวนี้คือกี่โมง ถ้าไม่มีปัจจัยอื่นเข้ามาแทรกเช่น หมาเห่า เสียงทีวีดังปลุกให้ตื่นหรือเป็นหวัดท้องเสียอะไรแบบนั้น เราน่าจะเห็นแนวโน้มว่าเค้าจะหลับยาวในช่วงเวลาเดียวกันทุกวัน ถ้ายังมองไม่ออกก็จดบันทึกไปเรื่อยๆค่ะ จนกว่าจะสังเกตุได้ว่าช่วงเวลากี่โมงที่เค้าจะเริ่มเข้าโหมดกลางคืน เมื่อรู้แล้วก็ให้นับเวลานั้นเป็นเวลาเข้านอน ให้พาเค้าเข้านอนเวลานั้นทุกวันอย่างน้อยๆหนึ่งเดือน(บวกลบครึ่งชั่วโมง) เพื่อให้ร่างกายเค้าชินกับเวลานั้น

ตอนหน้าจะมาอธิบายว่าฝึกนอนยังไง


bottom of page